ผู้ใช้ระบบ SolarRooftop ต้องจ่าย 1 สตางค์ต่อหน่วย ให้กองทุน

กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ย้ำ ผู้ผลิตโซลาร์รูฟท็อปเสรี กำลังการผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์​ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 1 สตางค์ต่อหน่วย ระบุหากมีการเปิดเสรีเต็มรูปแบบจริง จะต้องพิจารณาปรับเกณฑ์การเก็บเงินใหม่ให้เหมาะสมและเพียงพอต่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ส่วนการพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอใช้เงินกองทุนฯประจำปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ภายใต้กรอบวงเงิน 3,046 ล้านบาท พร้อมทำประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่สื่อสังคมออนไลน์และปล่อยรถคาราวาน กระตุ้นชุมชนมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ ให้มากขึ้น

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรีที่ภาครัฐเตรียมเปิดให้เข้าร่วมโครงการในอนาคตนั้น ทางผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีจะต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าอัตรา 1 สตางค์ต่อหน่วย กรณีที่มีกำลังการผลิตเกิน 1,000 KVA (Kilo Volt Amp ) หรือเกิน 1 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เนื่องจาก กกพ.มีระเบียบกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าและต้องมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าด้วย แต่ในส่วนผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ขายเข้าระบบไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ จะไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ

อย่างไรก็ตามในอนาคตหากเปิดโซลาร์รูฟท็อปแบบเสรีเต็มรูปแบบ ไม่จำกัดโควต้าการผลิต คาดว่าการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ขนาดเล็กจะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะน้อยลง ทำให้มีผลกระทบต่อการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ. ซึ่ง กกพ. อาจต้องพิจารณาปรับโครงสร้างการจัดเก็บเงินใหม่เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างเหมาะสมต่อไป

สำหรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฯนั้นจะแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ได้แก่ โรงไฟฟ้าดีเซลหรือน้ำมันเตา ต้องส่งเงินเข้ากองทุนฯ 1.5 สตางค์ต่อหน่วย,โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 1 สตางค์ต่อหน่วย, โรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 สตางค์ต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 1 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้น

นอกจากนี้ปัจจุบัน  กกพ. อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงการที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเสนอเข้ามา เพื่อขอใช้เงินจากกองทุนฯประจำปี 2561 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 3,046 ล้านบาท ทาง กกพ. คาดว่าจะพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ ได้เสร็จภายในเดือน พ.ย. 2560 นี้

       นายพรเทพ กล่าวด้วยว่า กกพ. ได้ปฏิรูปการประชาสัมพันธ์กองทุนพัฒนาไฟฟ้าเป็นแบบ 360 องศา โดยทำการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทั้งสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ล่าสุดได้จัด “โครงการประชาสัมพันธ์กองทุนพัฒนาไฟฟ้าในรูปแบบคาราวาน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า อาสาพาเจริญ” ซึ่งจะจัดรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ไปยังชุมชนรอบโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นการมีส่วนรวมของชุมชนต่อการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนฯ อย่างเหมาะสม เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า บางโครงการไม่ประสบผลสำเร็จเพราะชาวบ้านไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมคิดโครงการ ซึ่ง กกพ. มีเป้าหมายให้ชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วมให้ได้ 100% ซึ่งจะส่งผลให้ชุมชนและโรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกันได้อย่างมั่นคง

About

You may also like...

Your email will not be published. Name and Email fields are required

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.