มาแล้ว ! โครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรีระยะแรกไม่เกิน 300 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2560 พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เรียกประชุม กบง.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา แบบเสรี หรือ (โซลาร์รูฟท็อปเสรี) เป็นการเฉพาะ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ไม่ได้มีการเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชน เหมือนการประชุมที่ผ่านมา เนื่องจากกระทรวงพลังงานจะต้องนำเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี จากมติของ กบง. เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบ วันที่ 25ต.ค.2560 นี้เสียก่อน

อย่างไรก็ตามในหลักการสำคัญที่ กบง.ได้ให้ความเห็นชอบ ในการประชุมครั้งนี้ แล้วนั้น คือจะให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ในช่วงแรกไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเสียก่อน จึงจะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าที่เหลือส่วนเกิน ในอัตราที่ไม่แพงไปกว่าราคาขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี
ก่อนหน้านี้ ในวาระการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี เคยมีการนำเข้าสู่การพิจารณา ของ กบง.แล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา แต่ที่ประชุมยังไม่อนุมัติ โดยให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ไปจัดทำในรายละเอียดปลีกย่อย ที่ยังเป็นประเด็นปัญหาให้เกิดความชัดเจนเสียก่อน เพื่อนำกลับมาพิจารณาในการประชุม กบง. นัดพิเศษ ในครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าสำหรับประเด็นที่ พพ. ได้กลับไปพิจารณารายละเอียด เพื่อให้เกิดความชัดเจน อาทิ เกณฑ์การเข้าร่วมโครงการ, ระยะเวลาเปิด-ปิดโครงการ และวิธีการรับสมัครเข้าร่วมโครงการที่ต้องเป็นธรรมและครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยจะมีการกำหนดปริมาณเปิดรับซื้อเป็นรายภาค ซึ่งจะพิจารณาตามสายส่งไฟฟ้าที่สามารถรองรับได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ พพ. ได้มีการว่าจ้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี และได้มีการสรุปผลการศึกษาส่งให้กับทาง พพ.แล้ว โดยมีข้อเสนอไว้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. เปิดรับซื้อปีละ 300 เมกะวัตต์ จนครบเป้าหมายที่ 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว หรือ PDP2015 ส่วนทางเลือกที่ 2.คือ เปิดรับซื้อปีละ 600 เมกะวัตต์ จนครบเป้าหมาย 12,000เมกะวัตต์ ในปี 2579 และทางเลือกที่ 3. เปิดรับซื้อปีละ 1,000 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปี หรือครบเป้าหมายที่ 3,000 เมกะวัตต์ในปี 2563

ที่มาข่าว tcijthai.com

About

You may also like...

Your email will not be published. Name and Email fields are required

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.